หลักการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย

สมาคมสาธารณสุขอเมริกัน (American Public Health Administration) ได้กำหนดมาตรฐานความต้องการในเรื่องบ้านพักอาศัย ดังนี้คือ

บ้านพักอาศัยจะต้องมีลักษณะเป็นไปตามความต้องการทางด้านร่างกายของผู้อยู่-อาศัย (Fundamental Physiological Needs)
บ้านพักอาศัยจะต้องเป็นไปตามความต้องการทางด้านจิตใจของผู้อยู่อาศัย (Fundamental Psychological Needs)
ต้องป้องกันโรคติดต่อภายในบ้าน (Provision against Communicable Diseases)
สามารถป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้าน (Provision against Accidents)

ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย (Fundamental Physiological Needs)

หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสนองความต้องการทางร่างกาย แก่ผู้อยู่อาศัยได้ เช่น การจัดระบบระบายอากาศให้เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้อยู่อาศัยที่จะต้องพิจารณาจัดให้ถูกต้องด้วย ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

1.1 อุณหภูมิและความชื้น (Temperature and Humidity)
อุณหภูมิและความชื้นมีส่วนทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบาย หากมีอากาศร้อนและความชื้นสูงจะทำให้รู้สึกเฉื่อยชา (sluggish) แต่ถ้าหากมีอากาศเย็นหรือแห้งและความชื้นต่ำ มักจะมีความกระตือรือร้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์แต่ละพื้นที่จะมีความรู้สึกสบายต่ออุณหภูมิและความชื้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความไวต่อความรู้สึก (sensation) สุขภาพอนามัย (health) เพศ (sex) กิจกรรมที่กำลังกระทำ (activities) เครื่องแต่งกาย และอายุของผู้อยู่อาศัย เป็นต้น ในประเทศไทย อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับคนไทยมีการเสนอแนะว่า ควรอยู่ในช่วง 26.5-29 องศาเซลเซียส ความเร็วลม 1 ฟุตต่อวินาที ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60 เปอร์เซ็นต์ และที่อุณหภูมิเบี่ยงเบน 3-6 องศาเซลเซียส
1.2 การระบายอากาศ (Ventilation)
การระบายอากาศที่ดี เป็นการช่วยให้บ้านพักอาศัยปราศจากมลพิษทางอากาศภายในบ้านพักอาศัย (Indoor Air Pollution) เป็นการลดอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังและเยื่อบุอักเสบต่าง ๆ (chronic respiratory diseases and malignancies) สารมลพิษต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการสันดาปเชื้อเพลิงที่เกิดจากการหุงต้มภายในบ้าน เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารประกอบอินทรีย์ ควันบุหรี่ เป็นต้น

• การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation) เป็นการออกแบบและสร้างส่วนต่างๆภายในบ้าน ให้มีการระบายอากาศเป็นไปโดยธรรมชาติ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องส้วม เป็นต้น การเคหะแห่งชาติได้กำหนดมาตรฐานส่วนต่างๆ ภายในที่อยู่อาศัย เพื่อการระบายอากาศที่เหมาะสม ดังนี้
ก. การระบายอากาศของพื้นที่อยู่อาศัย
• ความสูงจากพื้นถึงเพดานของพื้นที่ใช้อยู่อาศัย ต้องไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร
• ปริมาตรพื้นที่อยู่อาศัยต้องไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อคน โดยนับรวมห้องที่อยู่อาศัยทั้งหมดของบ้าน
• พื้นที่ของประตู หน้าต่าง ช่องระบายลม รวมกันจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของพื้นที่ห้องนั้น ๆ
ข. การระบายอากาศของพื้นที่ที่ไม่ใช้อยู่อาศัย
• การระบายอากาศใต้ถุน อาคารที่มีพื้นที่ชั้นล่างลอยพ้นจากระดับดิน ซึ่งบางส่วน หรือทั้งหมดของโครงสร้างนั้นเป็นไม้จะต้องมีช่องระบายอากาศอย่างน้อย ร้อยละ 10 ของเนื้อที่ใต้ถุนทั้งหมด
• การระบายอากาศห้องหลังคา และเนื้อที่เหนือเพดาน ต้องจัดให้มีทางลมผ่านตลอด มีขนาดเท่ากับร้อยละ 5 ของพื้นที่เพดาน ในกรณีที่ใช้ห้องหลังคาเป็นที่อยู่อาศัย จะต้องจัดให้มีการระบายอากาศ เช่นเดียวกับการระบายอากาศของพื้นที่อยู่อาศัย

• การระบายอากาศโดยอาศัยเครื่องมือกล (Mechanical Ventilation)ได้แก่ การระบายอากาศโดยการติดตั้งพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยปรับระดับของอุณหภูมิและเกิดการถ่ายเทอากาศภายในห้อง หรืออาคารที่อยู่อาศัยตามความเหมาะสมที่ต้องการ โดยปกติแล้วไม่ควรน้อยกว่า 15 ลูกบาศก์ฟุตต่อคนต่อนาที ถ้า 25 ลูกบาศก์ฟุตต่อคนต่อนาที จะช่วยระบายกลิ่นได้ด้วย แต่ไม่ควรเกิน 50 ลูกบาศก์ฟุตต่อคนต่อนาที เพราะจะทำให้รู้สึกไม่สบาย สำหรับ เครื่องปรับอากาศ ควรมีอุณหภูมิ ระหว่าง 24–29 องศาเซลเซียส

This entry was posted in เรื่องของอสังหาริมทรัพย์ and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.