การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาประเทศของที่อยู่อาศัย

ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมือง ปรากฏชัดเจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจาก ระหว่างสงคราม และเมื่อสงครามสงบมีผู้อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น โดยเช่าที่ดินก่อสร้างที่อยู่อาศัยเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ ขาดการจัดระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้ชุมชนมีสภาพแวดล้อมทรุดโทรมและกลายเป็นชุมชนแออัดในระยะเวลาต่อมา

การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานในการผลิต โดยความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการสูงขึ้นมาก ขณะที่ความต้องการแรงงานภาคเกษตรกรรมลดลงเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดแรงงานจากชนบทให้เข้ามาสู่เมือง

ที่อยู่อาศัยเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้ ที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนจะต้องมีราคาถูก ใกล้แหล่งงาน มีคนรู้จักพอจะพึ่งพาได้ ซึ่งที่อยู่อาศัยที่ว่านี้หาไม่ได้ในตลาดที่อยู่อาศัย คนจนจึงต้องช่วยตัวเองด้วยการหาที่อยู่อาศัยจากระบบที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ ชุมชนแออัด บ้านเช่าราคาถูก จนถึงบุกรุกที่ว่างเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยอย่างง่าย ๆ ขึ้น ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพทางกฎหมาย และขาดโอกาสที่จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐ ทำให้สภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนจนเหล่านี้ลำบากยิ่งขึ้น ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยนอกระบบสำหรับคนจนเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันมีชุมชนแออัดทั่วประเทศประมาณ 5,400 ชุมชน 115ล้านครัวเรือน ประชากรประมาณ 6.75 ล้านคน และหากรวมคนจนที่อาศัยในที่อื่น ๆ นอกชุมชนแออัด เช่น ห้องเช่าใกล้โรงงาน ห้องเช่าบนตึก กรรมกรก่อสร้าง อยู่กับนายจ้าง อยู่วัด เร่ร่อน ฯลฯ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 25 % ของคนจนในชุมชนแออัด จะมีคนจนในเมืองทั้งหมดประมาณ 1.88 ล้านครัวเรือน ประชากร 8.25 ล้านคน

ปัจจุบันมีผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณ 8.25 ล้านคน ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ไม่มีรายได้มากพอที่จะจัดหาที่อยู่อาศัย หรือเข้าถึงระบบตลาดที่อยู่อาศัยได้ อีกทั้งที่ผ่านมารัฐก็ไม่สามารถจัดการด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนจนได้อย่างเพียงพอ จนก่อให้เกิดปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง เรื้อรังมาจนถึงวันนี้ และมีแนวโน้มทวีความรุมแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้คนจากชนบทหลั่งไหลเข้าสู่เมืองอยู่ตลอดเวลา

This entry was posted in เรื่องของอสังหาริมทรัพย์. Bookmark the permalink.

Comments are closed.