การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน

การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสนใจในยุคที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งเพื่อตัวเราเองและคนอื่นๆ ในวันนี้และวันข้างหน้า

ในเบื้องต้นการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ทำให้อยู่แล้วสุขกายสบายใจ มีพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึง เริ่มจาก “การวางผัง” ด้วยการใส่ใจในเรื่องทิศทางของ “แดด-ลม-ฝน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบบ้านที่เข้าใจธรรมชาติเป็นหลักนั่นเอง

นอกจากการวางผังให้ถูกต้องตามทิศทางแดด-ลม-ฝน แนวทางที่จะทำให้เกิดผลตามที่ต้องการยังต้องให้ความสำคัญกับ “การลดความร้อน” เข้าสู่อาคารด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้วัสดุที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร เช่น ฉนวนกันความร้อน ฯ หรือ “การรีไซเคิล” เช่น การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อลด carbon footprint เพราะช่วยลดระยะทางในการขนส่ง หรือ“การใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” เช่น การใช้สีซึ่งไม่มีสารระเหย เป็นต้น

เรื่องการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ที่สำคัญคือ “เปลือกหรือผิวของบ้าน” เช่น หลังคา จะต้องใช้ฉนวนกันความร้อน เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักที่จะช่วยป้องกันความร้อนซึ่งจะถ่ายลงมาสู่ตัวบ้าน หลักการคือการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารให้ได้มากที่สุด เพื่อจะต้องปรับอากาศให้น้อยลง โดยมีวัสดุต่างๆ หลากหลาย เช่น ฉนวนใยแก้ว ฉนวนโพลิยูรีเทน ฉนวนพียูโฟม ซึ่งบางอย่างมีประสิทธิภาพพอๆ กัน แตกต่างกันที่ความหนา อย่างไรก็ตาม มีฉนวนที่ดีซึ่งคนส่วนมากมักจะนึกไม่ถึงคือช่องว่างของอากาศ จึงควรจะเว้นช่องว่างระหว่างวัสดุมุงหลังคากับวัสดุกันความร้อน เพื่อให้การนำพาความร้อนเข้าสู่อาคารช้าลง

สำหรับการออกแบบให้การใช้ “แสงธรรมชาติ” เข้ามาช่วย โดยใช้วัสดุป้องกันความร้อนได้ดีจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างดีเช่นกัน ส่วนการใช้ “พืชพรรณต่างๆ” เพื่อช่วยลดความร้อน แนวทางที่ทำควรจะทำให้พื้นที่รอบๆ บ้านเย็นลงระดับหนึ่ง แล้วจึงจะปรับอากาศภายใน แทนที่จะให้พื้นที่รอบๆ ร้อนระอุ และควรจะเป็นพืชพรรณที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เพราะจะเหมาะสมและดูแลได้ง่าย เมื่อทำเช่นนี้ทุกบ้าน จะช่วยให้การใช้พลังงานของประเทศไทยลดลงตามไปด้วย

ส่วนการ “ตกแต่งภายใน” อยู่บนแนวทางเดียวกันคือการเลือกใช้ของที่มีอยู่ในพื้นที่หรือท้องถิ่น เพื่อจะไม่ต้องขนส่งให้สิ้นเปลืองพลังงาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะเลี่ยงก็ตาม นอกจากนี้ การคำนึงถึงการออกแบบที่ละเอียดขึ้น ยังมีการใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ไม่มีเศษเหลือซึ่งจะกลายเป็นขยะให้ต้องจัดการอีก รวมทั้ง การใช้ “อุปกรณ์ต่างๆ” เช่น อุปกรณ์ห้องน้ำและ สุขภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ชักโครก ก๊อกน้ำ และฝักบัว แบบประหยัดน้ำ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สะดวกในการเลือกใช้หรือเลือกซื้อ สามารถดูได้จากใบรับรองซึ่งผู้ประกอบการที่ทำในเรื่องนี้มักจะมีการขอการรับรองเอาไว้ เช่น ใบรับรองการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯ สำหรับสถาบันของไทยที่รับรองด้านที่อยู่อาศัยมีสถาบันอาคารเขียวเป็นผู้รับรองในเรื่องของกระบวนการก่อสร้าง การใช้วัสดุ การออกแบบ งานระบบที่นำพลังงานหรือน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้ซื้อมีความสามารถในการเลือกหรือเรียกร้องมากขึ้นจะช่วยผลักดันผู้ผลิตให้เพิ่มความสำคัญ

This entry was posted in เรื่องของอสังหาริมทรัพย์ and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.